นิทรรศการ
ข้อมูลทั้งหมด 4 รายการ
วิถีศรัทธาอีสาน มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน
วันที่จัดแสดง : 22 มี.ค. 2565
นิทรรศการหัตถศิลป์สัญจรครั้งที่ 1 เป็นนิทรรศการประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ได้รับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22– 27 มีนาคม 2565 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น งานนิทรรศการครั้งนี้ได้รับแรงบันดาลจากการได้เห็นพระพุทธรูปไม้ ในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น อันเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ อันสามารถสร้างเป็นต้นแบบนิทรรศการงานศิลปะของท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่ศิลปะท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ร้องรำทำเพลง: คีตศิลป์แห่งนครศรีธรรมราช
วันที่จัดแสดง : 8 มี.ค. 2566
สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติในสังกัดของวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ (ธัชชา) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช จัดนิทรรศการนี้ขึ้นโดยนำเสนอผ่านในรูปแบบภูมิปัญญาของงานช่างหัตศิลป์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านงานหัตถศิลป์จากคีตศิลป์ และศิลปะการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์และส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของนครศรีธรรมราชและภาคใต้ อาทิ หนังตะลุง เครื่องแต่งกายโนรา ลูกปัดโนราและเทริดโนรา และงานกรงนกกรงหัวจุกที่มีเทคนิคและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่รังสรรค์ขึ้นผ่านวัสดุจากท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่ศิลปะและหัตถศิลป์ท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยงานนิทรรศการจะจัดขึ้นทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. ระหว่างวันที่ 8 – 31 มีนาคม 2566 ณ บ้านท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ ถนนราชดำเนิน จังหวัดนครศรีธรรมราช
คันฉ่องส่องเพ็ชร์: มรดกภูมิปัญญาแห่งพริบพรี
วันที่จัดแสดง : 21 พ.ย. 2565
สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นำเสนอมรดกทางภูมิปัญญาของงานช่างหัตศิลป์ในจังหวัดเพชรบุรี ผ่านงานหัตถศิลป์พื้นบ้านและงานสกุลช่างที่สำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ เช่น คันฉ่องฝังลายไม้มูก งานปูนปั้น หัวละครชาตรี หัววัว งานฉลุกระดาษ หนังใหญ่ และเทียนแห่นาค เพื่อเผยแพร่ศิลปะและหัตถศิลป์ท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ หอวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
หัตถศิลป์ลำปาง: มรดกศรัทธาแห่งเขลางค์นคร
วันที่จัดแสดง : 27 ส.ค. 2565
สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จัดงานนิทรรศการ “หัตถศิลป์ลำปาง: มรดกศรัทธาแห่งเขลางค์นคร” ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 11 กันยายน พ.ศ. 2565 โดยนำเสนอมรดกทางภูมิปัญญาของงานช่างหัตถศิลป์จังหวัดลำปาง ผ่านงานหัตถศิลป์พื้นบ้านและศิลปวัตถุ เช่น สัตตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเครื่องสักการะในพระพุทธศาสนาที่มีความประณีตงดงาม โดยมีลักษณะเป็นเชิงเทียนใช้ปักเทียนสำหรับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์ หรือพระประธานในพระวิหารหรือพระอุโบสถ นับเป็นงานศิลปกรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์และแฝงคติความเชื่อของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับภูเขาที่ล้อมเป็นวงกลมรอบเขาพระสุเมรุ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มงานเครื่องจักรสาน ซึ่งเป็นงานหัตถศิลป์ที่มีการทำสืบทอดต่อกันมายาวนานหลายชั่วอายุคนและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนธรรมดา มีการจัดแสดงงานศิลป์ผ่านข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น กล่องข้าวบ้านไผ่ ที่มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์มีลวดลายที่สวยงามอันเกิดจากการสานเส้นตอกที่ย้อมสีดำขัดกับเส้นตอกสีธรรมชาติ นอกจากนั้นยังมีงานไม้แกะสลัก เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา งานผ้าทอพื้นเมือง และงานตอกกระดาษ นิทรรศการแห่งนี้จัดขึ้นที่หอศิลปะการแสดงนครลำปาง (บ้านบริบูรณ์) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณกาดกองต้าอันเป็นศูนย์รวมการค้าขายและการพบปะของผู้คนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน